ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเทรด DW | J.P. Morgan | DW41 Thailand

2020-04-01

รวมความรู้พื้นฐานการเทรด DW ที่มือใหม่ต้องรู้

 

ประเด็นสำคัญ

#1. DW คืออะไร

#2. DW มีกี่ประเภท

#3. ทำความเข้าใจรหัสแต่ละตัวของ DW

#4. จุดเด่นของการเทรด DW

#5. ความเสี่ยงของการเทรด DW

 

     นักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่สนามการลงทุนหมาด ๆ อาจเคยได้ยินมาว่า การเล่น DW หรือการเทรด DW จะต้องรู้ถึงวิธีเทรด DW ในแต่ละจังหวะอย่างเหมาะสม ถึงจะช่วยให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนแบบอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว J.P. Morgan ขอเสริมให้กับคำกล่าวนี้ว่า นอกจากจังหวะในการลงทุนจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว “ความเสี่ยง” ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนต้องพิจารณาควบคู่กันไปขณะเล่น DW ทุกตัวในท้องตลาดด้วย เพราะหากไม่พิจารณาถึงความเหมาะสมและความต้องการของตัวเอง ความเสี่ยงนี่แหละจะทำให้การซื้อขาย DW นั้นกลายเป็นเรื่องยากและทำให้นักลงทุนพากันถอดใจจนไม่อยากลงทุนต่อ

     วันนี้ J.P. Morgan ได้รวบรวมความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นเทรด DW สำหรับนักลงทุนมือใหม่โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการวางรากฐานความเข้าใจในการเทรด DW ที่ถูกต้อง จนสามารถเริ่มลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ในการวางแผนการลงทุนที่เหมาะสมของตัวเองในอนาคตได้ ว่าแล้วไปทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันเลย

 

DW คืออะไร

     นอกจากวิธีการเล่น DW ที่มีเทคนิคมากมายหลายแบบแล้ว การเทรด DW ที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจความรู้พื้นฐานของ DW เสียก่อน โดย DW หรือที่ย่อมาจาก Derivative Warrant นั้นไม่ใช่ “หุ้น” อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่เป็นใบแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีลักษณะสำคัญเป็นสิทธิในการ “ซื้อ” หรือ “ขาย” สินค้าอ้างอิง ณ ราคาที่กำหนดในอนาคต ซึ่งผู้ถือจะไม่ได้รับสินค้าอ้างอิงแต่จะได้รับเป็นเงินสดส่วนต่าง (ถ้ามี) เมื่อครบกำหนดอายุ โดยผู้ที่ทำการออก DW จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

     หากนักลงทุนมือใหม่คนไหนงงกับคำจัดความที่เป็นทางการนี้ J.P. Morgan ขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า DW นั้นไม่ใช่หุ้น แต่จะเป็น “สิทธิ” ที่ไว้ใช้ซื้อหรือขายสินทรัพย์ที่ทำการอ้างอิงกับ “หุ้นรายตัว” หรือ “ดัชนีหุ้น” ซึ่งการซื้อขาย DW จะมีราคาที่เปลี่ยนแปลงไปตามราคาที่สินทรัพย์นั้น ๆ อ้างอิง

 

อธิบายเพิ่มเติม

 

หุ้นอ้างอิงคืออะไร?

หุ้นอ้างอิง หรือที่นักลงทุนหลาย ๆ คนรู้จักในชื่อของ “หุ้นแม่” ซึ่งหุ้นประเภทนี้จะเป็นหุ้นรายตัวที่คอยกำหนดราคาของ DW อีกทีนึง ซึ่งหากนักลงทุนหุ้นคนไหนได้ทำการซื้อหุ้นอ้างอิงมาก็จะเห็นได้ว่า ราคาของหุ้นแต่ละตัวนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก ๆ เช่น ความต้องการซื้อ-ขายของเหล่านักลงทุน รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น ราคาของ DW ก็จะได้รับผลกระทบในส่วนนี้ไปด้วย ในจุดนี้ นักลงทุนหลายคนอาจตั้งคำถามถึงวิธีเลือกหุ้นแม่ของ DW ที่สนใจ ซึ่ง J.P. Morgan ขอแนะนำว่า นักลงทุนต้องพิจารณาและศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา DW ก่อนวางแผนลงทุนเพื่อทำการหาทิศทางของตลาดด้วย

 

ดัชนีหุ้นคืออะไร?

ดัชนีหุ้นจะมีความหมายแตกต่างกับหุ้นอ้างอิงตรงที่ ดัชนีหุ้นจะเป็น “ภาพรวม” ของกลุ่มหุ้น ที่จะมีหลักในการคิดคำนวณที่แตกต่างกันไปตามดัชนีนั้น ๆ โดยหลัก ๆ แล้ว ดัชนีหุ้นที่สามารถนำมาเทรด DW ได้จะมีดัชนี SET50 ที่เป็นดัชนีหุ้นไทย และ ดัชนีหุ้นต่างประเทศ เช่น S&P500 (SPX), Nasdaq-100 (NDX) และ Dow Jones (DJI) เป็นต้น ดังนั้น หากใครอยากได้วิธีเทรด SET50 DW หรือดัชนีต่างประเทศ สิ่งที่ต้องกลับไปพิจารณาให้ดี คือ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีตัวนี้ ซึ่งหากใครสนใจข้อมูลดัชนีหุ้นเพิ่มเติมสามารถคลิกที่นี่

DW มีกี่ประเภท

     เมื่อข้างต้นเราได้ทำความเข้าใจไปแล้วว่า DW คืออะไร สามารถเทรด DW ยังไง รวมถึงเลือกเทรดบนสินทรัพย์อ้างอิงแบบไหนได้บ้างแล้ว ในส่วนนี้เราจะมาดูกันว่าประเภทของ DW นั้นมีอะไรบ้าง

     โดยทั่วไปแล้ว DW จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สิทธิในการซื้อ (Call DW) และ สิทธิในการขาย (Put DW) ซึ่งหากใครอยากรู้ว่าจะเล่น DW ยังไงให้มีประสิทธิภาพก็ต้องทำความเข้าใจหลักการทำงานของ DW 2 ประเภทนี้ก่อน

     - Call DW (C) หรือสิทธิในการซื้อ

          - ราคาจะเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อ้างอิง สามารถทำกำไรได้เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับตัวสูงขึ้น

     - Put DW (P) หรือสิทธิในการขาย

          - ราคาจะเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง สามารถทำกำไรได้เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับ

 

ทำความเข้าใจรหัสแต่ละตัวของ DW

นอกจากจะทำความเข้าใจว่าการเทรด DW คืออะไรและต้องใช้ความรู้ส่วนไหนพิจารณาแล้ว เมื่อเข้าสู่สนามการลงทุนใหม่ ๆ นักลงทุนที่ยังไม่คุ้นชินกับระบบยังอาจสงสัยว่า รหัส DW นั้นดูยังไง แต่ละตัวอักษรมีความหมายอย่างไร ซึ่ง J.P. Morgan ขอสรุปแยกแต่ละตัวอักษรดังนี้

จุดเด่นของการเทรด DW

     ความรู้ที่กล่าวไปข้างต้นอาจทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มมองเห็นภาพว่า DW สามารถเล่นยังไงได้บ้างแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ เราจะมาอธิบายถึงจุดเด่นของการลงทุนกับ DW กันบ้าง โดยหลัก ๆ แล้วจะมีด้วยกัน 5 ข้อดังนี้

     1. ถึงจะมีราคาตามหุ้นหรือดัชนีอ้างอิง แต่ DW นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่สูงสินทรัพย์อ้างอิง หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “อัตราทด” (Gearing / Leverage)

         เช่น Call DW จะมีอัตราทด หรือ Effective Gearing 5 เท่า ซึ่งหมายความ

               - หากราคาหุ้นอ้างอิงเพิ่มขึ้น 2% Call DW หรือสิทธิในการซื้อจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 10%

               - หากในกรณี Put DW หรือสิทธิในการขาย อัตราทด หรือ Effective Gearing มีค่าเป็นลบเนื่องจากมีการเคลื่อนไหวของราคาที่ตรงกันข้ามกับราคาสินค้าอ้างอิง

     2. การเทรด DW ใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง และมีโอกาสทำกำไรที่สูงกว่า

     3. ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรได้ทั้งช่วงเวลาตลาดขาขึ้นและขาลง เนื่องจากมีให้เลือกการซื้อขาย DW ทั้งแบบ Call DW และแบบ Put DW

     4. การลงทุนใน DW จะมีการจำกัดผลขาดทุนสูงสุดเท่ากับมูลค่าที่ซื้อ DW ไป ดังนั้นผู้ลงทุนต้องวาง Margin และไม่มี Margin Call

     5. ผู้ลงทุนสามารถใช้บัญชีหุ้นในการซื้อขาย และต้องมีการซื้อขาย DW ขั้นต่ำ 100 หน่วย

 

ความเสี่ยงของการเทรด DW

     ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โดยความเสี่ยงของ DW ที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญจะประกอบไปด้วย 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

     1. ถึงเราจะทำความเข้าใจหลักการทำงานของ DW มากแค่ไหน แต่ราคาของ DW อาจไม่เคลื่อนไหวตามทฤษฎีเสมอไปด้วยหลาย ๆ สาเหตุ เช่น สภาพคล่องของสินทรัพย์อ้างอิง ณ ขณะนั้น และ ปริมาณความต้องการซื้อและขาย DW ในตลาด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยนี้อาจส่งผลให้นักลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนดั่งที่ตั้งใจไว้

     2. DW มีอายุในการลงทุนที่จำกัด ดังนั้น ต้องตรวจสอบวันซื้อขายสุดท้ายของ DW ก่อนทุกครั้ง

     3. การเทรด DW มีต้นทุนเรื่องการถือครอง โดยราคา DW อาจปรับลดตัวลงถึงแม้ราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะไม่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้นทุนในส่วนนี้จะเรียกว่า “Time Decay”

     4. เนื่องจาก DW มีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่สูงกว่าสินทรัพย์อ้างอิง ดังนั้น นักลงทุนจะมีความเสี่ยงในการลงทุนใน DW ที่สูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงเช่นกัน

     5. อัตราส่วนการเคลื่อนไหวของราคา DW เทียบกับการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อ้างอิงสามารถเปลี่ยนแปลงในตลอดช่วงอายุของ DW ได้ สามารถประมาณได้จากค่า Sensitivity

 

     หมายเหตุ : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขผลตอบแทนก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินการในอดีตไม่สามารถยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคตได้