
การเริ่มต้นที่ถูกต้องถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จ เช่นเดียวกับการเทรด DW หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในชื่อของ Derivative Warrant หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ที่ต้องเริ่มต้นการเทรดให้ถูกต้อง ซึ่งก่อนจะเริ่มการเทรดควรทำความเข้าใจในทิศทางสนามลงทุนของทั้งไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงการเลือกดัชนีและหุ้นแม่ประเภทต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเรา แต่คำถามคือ? แล้วเราควรเลือกดัชนีและหุ้นแม่แบบไหนให้เหมาะกับเรามากที่สุด? J.P. Morgan ขอชวนทุกคนมาเริ่มต้นก้าวแรกในสนามการลงทุน DW ด้วยการทำความเข้าใจหุ้นแม่และดัชนีต่าง ๆ ที่เป็นจุดตั้งต้นของการลงทุนกันก่อน
จริงอยู่ว่า ดัชนีหุ้นและหุ้นแม่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจหากผู้เทรดต้องการเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างที่ตัวเองได้หวังเอาไว้ แต่รู้หรือไม่ว่า นักลงทุนจะไม่สามารถเริ่มต้นการเทรดได้เลยหากยังไม่เข้าใจว่า DW คืออะไรและเป็นการลงทุนประเภทใดกันแน่
หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินว่า DW หรือ Derivative Warrant นั้นเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ซื้อขายบนกระดานหุ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำนิยามเช่นนี้เป็นความจริงเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะตัว DW นั้นเป็น “สิทธิ” ในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งอาจจะเป็นดัชนีหุ้นหรือหุ้นแม่ โดยราคาของสิทธิดังกล่าวจะเคลื่อนไหวอ้างอิงกับราคาของสินทรัพย์อ้างอิง ที่เป็นได้ทั้งดัชนีหุ้น หรือ หุ้นรายตัว (“หุ้นแม่”)
นอกจากนั้น DW ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความสะดวกและยืดหยุ่นสูง เพราะนอกจากจะใช้ซื้อขายได้สะดวกเหมือนหุ้นแต่ใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าแล้ว นักลงทุนยังสามารถวางแผนการลงทุน DW ในระยะสั้นไปจนถึงระยะกลางด้วยตารางราคา อีกทั้งยังสามารถซื้อขายเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ทั้งตลาดขาขึ้น (Call DW) และตลาดขาลง (Put DW) ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจำนวนมากจึงนิยมใช้ DW เพื่อลงทุนตามการเคลื่อนไหวของราคา เพื่อบริหารความเสี่ยง และเพื่อเปิดโอกาสการลงทุนอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศ
เคยสงสัยไหมว่าเวลาการเคลื่อนไหวของหุ้นแม่สำคัญอย่างไรต่อการลงทุนใน DW อย่างไร
ซึ่งคำตอบง่าย ๆ ของคำถามนี้ก็คือ หุ้นแม่ คือชื่อเรียกของหุ้นอ้างอิงของ DW โดยราคาของ DW จะเคลื่อนไหวสอดคล้องไปกับราคาของหุ้นแม่ ดังนั้นในการลงทุนใน DW บนหุ้นนั้น ขั้นตอนแรกของการลงทุนก็คือต้องรู้จักพฤติกรรมของหุ้นแม่ดังกล่าวเสียก่อน ว่าการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแม่สะท้อนปัจจัยอะไรบ้าง ณ ขณะนั้น ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจจะสะท้อนมุมมองพื้นฐานของกิจการหรือข่าวโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแม่สะท้อนปริมาณความต้องการซื้อ (demand) และความต้องการขาย (supply) ของนักลงทุนในปัจจุบันเท่านั้น
ถ้าหากว่า นักลงทุนต้องการที่จะมองดูภาพรวมของกลุ่มหุ้น เช่น การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 50 หุ้น หากวัดด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย (SET50 Index) หรือการเคลื่อนไหวของหุ้นที่เน้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดสหรัฐอเมริกา 100 หุ้น (NDX index) นักลงทุนเลือกลงทุนในภาพรวมของกลุ่มหุ้นได้จากการลงทุนใน “ดัชนีหุ้น” ที่ประกาศโดยผู้จัดทำดัชนี ซึ่งดัชนีหุ้นแต่ละชนิดจะสะท้อนการเคลื่อนไหวของกลุ่มหุ้นที่แตกต่างกัน
การใช้ดัชนีหุ้นใดดัชนีหุ้นหนึ่งเป็นตัวสะท้อนภาพรวมของตลาดอาจจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น หุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี วิธีการคำนวณดัชนีดังกล่าว สภาพคล่องของหุ้นสมาชิกของดัชนี รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของผู้จัดทำดัชนีประกอบด้วยเช่นกัน แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ดัชนีต่าง ๆ ที่เห็นได้ทั่วไปก็ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือบอกภาพรวมของเศรษฐกิจได้อย่างตรงตัว ตัวอย่างเช่น ดัชนี Dow Jones ที่อยู่คู่ Wall Street มายาวนานก็ยังไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของราคาหุ้นทั้งหมดของตลาดหุ้นสหรัฐได้ เพราะวิธีการคำนวณดัชนี Dow Jones นั้นมาจากหุ้นสมาชิกจากเพียง 30 บริษัทที่นำมาถ่วงน้ำหนักด้วยราคาหุ้น (Price-Weighted) ในขณะที่ดัชนี S&P500 อาจจะเป็นดัชนีที่เหมาะสมกว่าในการสะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐเนื่องจากประกอบไปด้วยหุ้นสมาชิกกว่า 500 บริษัทที่นำมาถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization-Weighted) ซึ่งครอบคลุมมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐกว่า 80%
ถึงแม้ว่าราคาของ DW จะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยแรกที่นักลงทุนมักพิจารณา คือ ราคาของดัชนีอ้างอิงในกรณีของ DW อ้างอิงดัชนีหุ้น หรือราคาของหุ้นแม่ในกรณีของ DW อ้างอิงหุ้น โดยปัจจัยดังกล่าวสามารถใช้คาดการณ์ว่า หากดัชนีอ้างอิงหรือราคาหุ้นแม่ปรับตัวสูงขึ้น นั่นก็จะส่งผลให้ราคาของ DW ประเภท Call ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ DW ก็ยังเพิ่มโอกาสการลงทุนในจังหวะตลาดขาลงเช่นเดียวกัน โดยหากดัชนีอ้างอิงหรือราคาหุ้นแม่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง นักลงทุนก็สามารถวางแผนเพื่อทำการซื้อขาย DW ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นในช่วงตลาดขาลง หรือ ซื้อ DW ประเภท Put ได้เช่นเดียวกัน
Investment Tips:ราคาของ DW อาจจะถูกกำหนดโดยปัจจัยอื่นนอกเหนือจากราคาของดัชนีอ้างอิงและราคาของ หุ้นแม่ เช่น ต้นทุนการเสื่อมมูลค่าของ DW หรือ Time Decay เนื่องจาก DW มีอายุจำกัด รวมไป ถึงสภาพคล่องและความผันผวนของราคาของดัชนีอ้างอิงและราคาของหุ้นแม่ นอกจากนั้นราคา DW ยังขึ้นกับ Demand และ Supply ในช่วงเวลาที่มีนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนตัวนั้นมากเป็น พิเศษจน DW ถูกถือครองโดยนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ราคาของ DW จะถูกกำหนดโดยนักลงทุน แทน Market Maker ทำให้ราคา DW สูงกว่าราคาทางทฤษฎีหรือจะเรียกว่าเกิด “ราคาลอย” |
จากที่เล่ามาทั้งหมด หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า เราควรเลือกลงทุนแบบไหนดีระหว่าง DW อ้างอิงดัชนีหุ้นไทย DW อ้างอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศ และ DW อ้างอิงหุ้น โดยทาง J.P. Morgan ขอแยกความแตกต่างของ DW ทั้ง 2 ประเภทเป็นตารางดังนี้
ความ แตกต่าง |
DW อ้างอิงดัชนี | DW อ้างอิงหุ้น |
การเคลื่อนไหวของราคา | DW ที่ราคาเคลื่อนไหวตามดัชนีหุ้น โดยส่วนใหญ่ผู้ออกจะปรับราคา DW ตามราคาสัญญา Futures ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นแต่ละชนิด | DW ที่ราคาเคลื่อนไหวตามหุ้นรายตัว |
ประเภทของหลักทรัพย์อ้างอิง | ประกอบไปด้วยดัชนีหุ้นไทย เช่น SET50 (S50) และดัชนีหุ้นต่างประเทศ เช่น S&P500 (SPX), Nasdaq-100 (NDX) | ประกอบด้วยหุ้นที่เป็นสมาชิกของดัชนี SET50 และหุ้นลำดับที่ 51-100 ในดัชนี SET100 ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง |
ความ ผันผวน | โดยเฉลี่ยดัชนีหุ้นจะมีความผันผวนที่น้อยกว่าหุ้นรายตัวเนื่องจากดัชนีนั้นประกอบด้วยหุ้นหลายตัว ดังนั้นจึงมีการกระจายความเสี่ยง | หุ้นรายตัวมีความผันผวนค่อนข้างสูงและแตกต่างกันหุ้นแต่ละบริษัท เนื่องจากมีปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละกิจการ |
มูลค่าที่ลดลงตามเวลา (Time Decay) | นื่องจากดัชนีที่ DW อ้างอิงมีมูลค่าดัชนีที่สูง ถึงแม้จะได้รับการชดเชยด้วยความผันผวนของดัชนีที่ต่ำ แต่สุดท้าย มูลค่าที่ลดลงตามเวลาของ DW ก็จะค่อนข้างสูงหากเทียบกับ DW อ้างอิงบนหุ้น | เนื่องจากความผันผวนที่สูงแต่มูลค่าของหุ้นอ้างอิงไม่สูงมากหากเทียบกับดัชนี ดังนั้นค่า มูลค่าที่ลดลงตามเวลาของ DW บนหุ้นจะต่ำกว่า DW บนดัชนี โดยบางรุ่นอาจถือได้นานถึง 5-10 วันโดยไม่มีมูลค่าที่ลดลงตามเวลาอย่างมีนัยสำคัญ |
ถึงจะมีความแตกต่างดังตาราง แต่การจะลงทุนใน DW อ้างอิงดัชนี หรือ DW อ้างอิงหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายการลงทุนของแต่ละคน โดยคุณสามารถเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการลงทุนได้โดยการวางแผนวิเคราะห์และคาดการณ์การเคลื่อนไหวราคาจากการพิจารณาตารางราคาที่จัดทำโดยผู้ออก DW
จริงอยู่ว่าดัชนีตลาดหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศนั้นมีด้วยกันมากมายหลายดัชนี แต่ดัชนีที่นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกลงทุน DW นั้นจะมีด้วยกัน 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินชื่อของดัชนี SET ประเภทต่าง ๆ มาไม่มากก็น้อย เช่น ดัชนี SET50 และ ดัชนี SET100 แต่ดัชนี SET ที่นิยมนำมาอ้างอิงในการออก DW คือ “ดัชนี SET50” โดยดัชนี SET50 นั้นเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) สูงที่สุด 50 หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และมีสภาพคล่องที่สูง โดยทางตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาทบทวนสมาชิกดัชนี SET50 ปีละสองครั้งคือรอบทบทวนเดือน มิถุนายน และรอบทบทวนเดือนธันวาคม
ดัชนี SET50 ครอบคลุมอะไรบ้าง
ดัชนี SET นั้นครอบคลุมธุรกิจชั้นนำหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อของดัชนี SET50 ได้ที่ https://www.set.or.th/th/market/constituents.html
ข้อควรระวังในการเทรด DW ใน SET50
นักลงทุนที่ต้องการวางแผนการลงทุนใน SET50 DW ด้วยตารางราคาที่แสดงโดยผู้ออก DW โดยส่วนใหญ่ ในการเทียบตารางราคานักลงทุนต้องเทียบตารางราคาจากราคา SET50 index Futures ไม่ใช่ SET50 Index
การเคลื่อนไหวของดัชนี SET50 ของประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยด้านการเมืองเป็นหลัก หากเศรษฐกิจไม่ดี ความมั่นคงทางการเมืองลดลง นักลงทุนทั้งไทยและชาวต่างชาติก็มีความเชื่อมั่นลดลง เม็ดเงินจากต่างชาติและในประเทศที่จะเข้ามาลงทุนก็จะลดลง ผู้ลงทุนต้องการลดความเสี่ยงและเริ่มหนีออกจากตลาดหุ้น หรือหันไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเช่น ทองคำ พันธบัตรหรือเงินสด ดัชนี SET ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงได้ง่าย
เวลาซื้อขาย SET50 DW: 10.00 – 12.30 น. และ 14.30 – 16.30 น.
Standard & Poor หรือดัชนี S&P500 นั้นเป็นชื่อดัชนีที่นักลงทุนหลายคนคุ้นหู เพราะ นอกจากจะเป็นดัชนีตลาดหุ้นสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาถึง 500 แห่งแล้ว ดัชนีนี้ยังมีการผสมผสานอุตสาหกรรมหลากลายรูปแบบเข้าด้วยกันจนสามารถสะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันบริษัทที่เป็นสมาชิกดัชนี S&P500 นี้เป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น NYSE (ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก) รวมถึงตลาดหุ้น NASDAQ และ ตลาด CBOE
ดัชนี S&P500 ครอบคลุมอะไรบ้าง
ดัชนี S&P500 หรือดัชนี SPX เป็นดัชนีที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดหุ้นสหรัฐสูงถึง 80% โดยบริษัทชั้นนำมากมายนั้นได้เข้าร่วมกับดัชนีนี้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น Apple, Microsoft, Amazon, Alphabet และ Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett รวมไปถึง J.P. Morgan Chase & Co. เองก็เช่นกัน สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัททั้งหมดได้ที่นี่ https://www.spglobal.com/spdji/en/indices/equity/sp-500/#data
ข้อควรระวังในการเทรด DW ใน S&P500
เนื่องจากดัชนี S&P500 เปิดทำการในเวลากลางคืนตามเวลาประเทศไทย ดังนั้น S&P500 DW ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทย จะอ้างอิงราคาจาก S&P500 Futures ที่ซื้อขายเกือบ 23 ชั่วโมง ครอบคลุมเวลาที่ตลาดไทยเปิดทำการช่วง 10.00 – 16.30 น. (ไม่มีพักเที่ยง) S&P500 Futures เป็นเครื่องมือการลงทุนที่เคลื่อนไหวสะท้อนมุมมองต่อดัชนี S&P500 ในอนาคต โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวสะท้อนปัจจัยข่าวในตลาดเอเชียและยุโรปที่อาจจะกระทบดัชนี S&P500 ในอนาคต
ดัชนี S&P500 มีการเคลื่อนไหวของราคาค่อนข้างสูงในช่วงกลางคืนที่ตลาดสหรัฐเปิด ซึ่งเป็นช่วงปิดตลาดของฝั่งประเทศไทยและ S&P500 DW ไม่สามารถซื้อขายได้เช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายในกรณีถือ DW ข้ามคืน แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสการลงทุนเนื่องจาก S&P500 DW เป็นเครื่องมือการลงทุนเดียวที่นักลงทุนสามารถใช้บัญชีหุ้นที่มีอยู่ลงทุนได้อย่าง Real Time ในช่วงเวลาซื้อขายของตลาดหุ้นไทย
ดัชนี NASDAQ-100 หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ NASDAQ-100 (NDX) นั้นมาจากการคำนวณหุ้น 102 ตัวจากบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทเงินทุนหรือสถาบันการเงินจำนวน 100 บริษัทโดยปัจจุบันหุ้นที่เป็นสมาชิกดัชนี NDX นั้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น Nasdaq ของสหรัฐอเมริกาทั้งหมด โดยดัชนี NDX นั้นจะถูกคำนวณจากการถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (Market Capitalization) เช่นเดียวกับดัชนี S&P500 หรือ SPX แต่ดัชนี NDX นั้นจะเป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยหุ้นที่เน้นไปทางกลุ่มเทคโนโลยีหรือเป็นกลุ่ม Growth Stock เป็นหลัก
ดัชนี NASDAQ-100 (NDX) ครอบคลุมอะไรบ้าง
ดัชนี NDX เป็นดัชนีที่เน้นไปที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Apple, Microsoft, Amazon, Tesla, Facebook และ Alphabet (GOOG, GOOGL) เป็นหุ้นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากต่อดัชนี NDX ซึ่งนอกจากที่ระบุมายังมีบริษัทระดับโลกอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถดูรายชื่อทั้งหมดได้ที่ https://www.nasdaq.com/market-activity/quotes/nasdaq-ndx-index
ข้อควรระวังในการเทรด DW ใน NASDAQ
เช่นเดียวกับดัชนี S&P500 DW NASDAQ-100 DW จะอ้างอิงการเคลื่อนไหวราคาของ NASDAQ-100 Futures ที่เปิดทำการเกือบ 23 ชั่วโมง NASDAQ-100 Futures เป็นเครื่องมือการลงทุนที่เคลื่อนไหวสะท้อนมุมมองต่อดัชนี NASDAQ-100 ในอนาคต โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวสะท้อนปัจจัยข่าวในตลาดเอเชียและยุโรปที่อาจจะกระทบดัชนี NASDAQ-100 ในอนาคต นอกจากนี้ดัชนี NASDAQ-100 มีความผันผวนที่สูงเนื่องจากประกอบไปด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสัดส่วนที่สูง ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงจะไม่มีมากเท่าดัชนี S&P500 ที่มีทั้งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มธนาคาร รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจที่สำคัญอื่น ๆ
เวลาซื้อขาย NASDAQ-100 DW: 10.00 – 16.30 น. ไม่มีพักเที่ยง
ทุกดัชนีและหุ้นอ้างอิงทุกตัวนั้นมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นก่อนที่จะเลือกเทรด DW นั้น นอกจากจะต้องหาความรู้และบทวิเคราะห์เรื่องตัว DW ที่สนใจแล้ว การทำความเข้าใจถึงข้อควรระวัง รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละดัชนีก็จะสามารถช่วยให้ผู้เทรดเลือกดัชนีและหุ้นแม่ได้เหมาะสมกับตนเองได้
นอกจากความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาแล้ว จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แต่ละดัชนีนั้นมีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ ทั้งเวลาในการซื้อขาย สภาพคล่อง และข้อจำกัดอื่น ๆ ที่มีผลต่อราคาการซื้อขาย ดังนั้นผู้เทรดทุกคนควรกลับมาพิจารณาความพร้อมของตัวเองก่อน ว่าเรามีเวลาให้กับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน และ เรามีความพร้อมทางการเงินกับการลงทุนหรือไม่
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินการในอดีตไม่สามารถยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคตได้ นอกจากจะเตรียมใจรับความเสี่ยงและหาข้อมูลของ DW แล้ว การตรวจสอบตารางราคาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตรวจสอบตาราง DW41 และวิเคราะห์แนวทางการลงทุนของตัวเอง ที่นี