ลงสนาม DW ต้องรู้! Market Maker คือใคร สำคัญกับตลาด DW อย่างไร

2021-08-16

ลงสนาม DW ให้เท่าทัน! Market Maker สำคัญกับตลาด DW อย่างไร

ประเด็นสำคัญ

#1. Market Maker คือใคร

#2. Market Maker สำคัญกับตลาด DW อย่างไร

#3. Market Maker ที่ดีควรเป็นแบบไหน เลือกอย่างไรถึงจะดีต่อการลงทุน

   

     การจะประสบความสำเร็จในการลงทุน DW ได้นั้น นอกจากการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวางแผนให้รัดกุม และปรับใช้กลยุทธ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแล้ว การทำความเข้าใจผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ Market Maker นั้นก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่จะยิ่งช่วยให้นักลงทุนวางแผนการลงทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าใหม่ในวงการ หรือมือเก๋าในตลาด J.P. Morgan ก็ขอชวนทุกคนในสนาม DW แห่งนี้มาทำความรู้จัก Market Maker ให้มากขึ้น แล้วเขาผู้นี้จะเป็นใคร มีความสำคัญกับตลาด DW อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลยที่นี่

 

 

Market Maker คือใคร

     ไม่ว่าจะเป็น DW ตัวไหน ต่อให้ตลาดเคลื่อนไหว หรือมีราคาผันผวนอย่างไร ย่อมมีระบบช่วยดูแลการเคลื่อนไหวของราคา DW ในสอดคล้องกับหุ้นแม่อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ระบบดูแลเบื้องหลังเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “Market Maker”

     ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้ออก DW (Issuer) แต่ละค่ายนั้นจะมีสไตล์การออก DWที่แตกต่างกันออกไปและมีนโยบายในการดูแลสภาพคล่องของ Market maker แต่ละรายที่ไม่เหมือนกัน เช่น ผู้ออกบางค่ายจะออก DW ที่เน้นการลงทุนระยะสั้น โดยให้ DW มีอัตราทด (Effective Gearing) ที่สูง ในขณะที่อีกค่ายอาจมีค่าเสื่อมราคา (Time Decay) ที่ต่ำจนสามารถถือครองได้ยาวนานกว่า เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างของเงื่อนไขนี้ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันในการลงทุน DW เช่นเดียวกัน

     ในด้านของ Market Maker ก็จะทำหน้าที่ปรับราคาให้สอดคล้องกับสภาพคล่องและลักษณะการเคลื่อนไหวของราคา DW แต่ละตัวตัวที่ออกมา
ซึ่งนักลงทุนจะรับรู้สไตล์การทำงานของ Market Maker จากปริมาณการวาง Bid-offer การเติม  order และความเร็วในการปรับราคาขึ้นหรือลงตามหุ้นแม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ Market Maker จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกับผู้ออก DW ตัวดังกล่าว

 

Market Maker สำคัญกับตลาด DW อย่างไร

     สำหรับสนามการลงทุน DW นั้น Market Maker ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ออก หรือ Market Maker นั้นจะมีหน้าที่สำคัญด้วยกัน 2 ประการหลัก ประกอบไปด้วย

     1. ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามข้อกำหนดสิทธิที่ทางผู้ออกยื่นขออนุญาตในการเสนอขายตาม  features ของ DW ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาเนื้อหาในข้อกำหนดสิทธิเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ผู้ดูแลสภาพคล่อง

     2. อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของ Market Maker คือ การควบคุมและดูแลสภาพคล่องของ DW โดยผ่านการวาง Bid-Offer หรือ การกำหนดส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขายไม่ให้มีขนาดเกิน 1 Tick Size หรือ 1 ช่องราคา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผันผวนในตลาดที่สูงเกินไป หรือเกิดการซื้อขายในราคาที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

 

 

Market Maker ที่ดีควรเป็นแบบไหน เลือกอย่างไรถึงจะดีต่อการลงทุน

     การเลือก Market Maker นั้นเปรียบได้ง่าย ๆ กับการเลือกคู่ชีวิต ถ้าหากเขามีนิสัยใจคอที่ไม่ค่อยเหมาะกับสไตล์การใช้ชีวิตของเราเท่าไหร่ ความสัมพันธ์นี้อาจทำให้คุณเหนื่อยและเครียดมากกว่าเดิม แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากเจอคนที่มีสไตล์การใช้ชีวิตและความชอบในแบบเดียวกัน โอกาสที่จะอยู่ด้วยกันไปตลอดรอดฝั่งก็มีสูง

     เมื่อเป็นเช่นนั้น ก่อนจะลงทุนใน DW นักลงทุนควรศึกษาว่าผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ Market Maker ก่อนการลงทุน สิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนทุกคนควรพิจารณาและทำความเข้าใจเป็นลำดับแรกก็คือ ความต้องการของตัวเราเอง และสไตล์การลงทุน จากนั้นค่อยมาพิจารณาเลือก DW ที่มี Market Maker ที่มีการวางสภาพคล่องให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการซื้อขาย ที่ใช่สำหรับเรา ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว นอกเหนือจากการพิจารณาเลือก DW แล้ว นักลงทุนควรศึกษาพฤติกรรมของ Market Maker นั้นๆ โดย J.P. Morgan ขอแนะนำให้นักลงทุนพิจารณา 2 ปัจจัยประกอบกันไป ดังนี้

 

1. ความสามารถในการดูแลสภาพคล่องและการควบคุมราคา

     Market Maker ที่ดีควรจะมีความสามารถในการดูแลสภาพคล่องและควบคุมราคาให้อยู่ในเกณฑ์ที่สม่ำเสมอ โดยนักลงทุนสามารถพิจารณาง่าย ๆ จากการวาง Bid-Offer โดยเลือก Market Maker ที่ทำการวาง Bid-Offer ที่ไม่ห่างจนเกินไป หรืออย่างมากที่สุด 1 Tick Size รวมถึงมีปริมาณ Bid-Offer ที่เพียงพอต่อการซื้อขายแต่ละครั้ง ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า ราคาซื้อขายในการลงทุนจะมีการผันผวนที่น้อยและทำให้การวางแผนลงทุนสะดวกยิ่งขึ้น            

 

Investment Tips:

     นักลงทุนอาจพิจารณาปริมาณการออก DW จากผู้ออกแต่ละราย ก่อนลงทุนใน DW เนื่องจากยิ่งมีปริมาณ DW มากทาง Market Maker ก็ยิ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวก และสามารถดูแลราคา DW ให้สอดคล้องกับหุ้นแม่และลดโอกาสการเกิดภาวะ “ราคาลอย” และลดความผันผวนของราคา

 

2. ความสามารถของ Market Maker ในการปรับราคาตามตารางราคา

     “ตารางราคา” หรือชื่อเต็ม “ตารางราคารับซื้อคืน” ถือเป็นหัวใจในการลงทุน DW เลยก็ว่าได้ ซึ่งก่อนที่จะทำการซื้อขายนั้น  ผู้ออกจะทำการออกตาราง ตารางราคา DW ที่อ้างอิงกับหุ้นหรือดัชนีหุ้นมาให้นักลงทุนได้ทำการพิจารณาถึงความเหมาะสมของราคาเพื่อให้คาดการณ์ราคา DW และวางแผนการลงทุนในอนาคตแบบคร่าว ๆ ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว การเลือก DW ที่ Marker Maker สามารถวางราคา DW ให้สอดคล้องกับตารางราคามากที่สุด ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนมากกว่า

 

Investment Tips:

     การพิจารณาตารางราคา หรือ Indicative Price นั้น นักลงทุนต้องสังเกตตารางให้ดี ว่าเป็นตารางราคาเสนอซื้อ (Bid) ของ DW ไม่ใช่ตาราราคาเสนอขาย (Offer) เพราะถ้าหากเข้าใจผิด การวางแผนลงทุนก็อาจเกิดข้อผิดพลาด และทำให้มองกลไกของราคาผิดไป

 

     สุดท้ายนี้ ถึง Market Maker จะมีความสำคัญกับการลงทุน DW ในหลาย ๆ ประการ แต่สิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนนอกเหนือจากการรู้จักที่จะเลือก Market Maker ให้เหมาะกับความต้องการและสไตล์การลงทุนของตัวเองแล้ว คือ การศึกษารายละเอียดของ DW ตัวที่สนใจในหลาย ๆ ด้านประกอบไปกับการพิจารณาความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว J.P. Morgan หวังว่า ความรู้ที่นำมาฝากในวันนี้จะช่วยให้ทุกคนได้พิจารณาถึงปัจจัยที่เรียกว่า Market Maker ได้รอบด้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นจะช่วยให้การวางแผนลงทุนในอนาคตสะดวกมากยิ่งขึ้นเช่นกัน และถ้าหากใครอยากลงทุนกับ Market Maker ระดับโลกอย่าง J.P. Morgan สามารถติดต่อลงทุน DW41 กับโบรกเกอร์ที่ไว้วางใจได้ทุกเวลาทำการ