DW ควรถือนานเท่าไหร่ เทรดแบบไหนเหมาะกับเราที่สุด?

2021-04-26

“ระยะเวลา” ปัจจัยสำคัญที่ต้องรู้ก่อนเทรด DW ให้เหมาะกับตัวเอง

ประเด็นสำคัญ

#1. DW เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีวันหมดอายุ

#2. ถือสั้นหรือถือยาว: ทางเลือกไหนเหมาะกับเทคนิคการลงทุนของเรา?

#3. การถือ DW จนหมดอายุ: ข้อเสีย ผลตอบแทน และภาษี

 

    หนึ่งในลักษณะของการลงทุนที่ดีคือการเลือกวิธีทำกำไรได้อย่างเหมาะสม DW หรือ Derivative Warrants ซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีช่วงเวลาการถือครองระยะสั้นถึงระยะกลางก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือการลงทุนที่เปิดโอกาสในการเลือกวิธีการทำกำไรได้อย่างเหมาะสมเช่นเดียวกัน เพราะหากต้องการสร้างผลตอบแทน นอกจากจะต้องหมั่นติดตามข่าวสารที่ส่งผลต่อราคาของสินทรัพย์อ้างอิง รวมถึงการเลือกซื้อขายให้ถูกจังหวะแล้ว เรื่องของระยะเวลาในการถือครองก็ส่งผลเป็นอย่างมาก และเป็นตัวชี้วัดได้ว่าจะทำกำไรได้มากน้อยเพียงใด ในบทความนี้ เราจะพานักลงทุนไปทำความรู้จักกับ “ระยะเวลา” ซึ่งมีผลต่อการสร้างผลตอบแทนจาก DW ให้ได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

DW เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีวันหมดอายุ

    เพราะ DW ไม่ใช่หุ้น และมีหลักการในการซื้อขายที่ไม่เหมือนกับการเทรดหุ้นบนกระดาน 100% ตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ DW หรือ Derivative Warrants คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิ์ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิงตามวันเวลาและเงื่อนไขที่ทางผู้ออก DW เป็นผู้กำหนด ดังนั้น จึงไม่เหมือนกับการซื้อหุ้นรายตัว ที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะ Day Trade เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของการซื้อขาย หรือจะถือครองในระยะยาวเป็นเดือนหรือเป็นปีเพื่อรอขายในราคาที่ดีหรือรอรับเงินปันผล เพราะ DW ทุกตัวจะมีการกำหนดวันครบกำหนดอายุที่แน่นอน โดยหากผู้ถือไม่ขายคืน DW ให้ผู้ออกก่อนเวลาปิดตลาดของวันซื้อขายสุดท้าย ก็อาจส่งผลให้นักลงทุนได้รับหรือไม่ได้รับเงินสดส่วนต่างกลับคืนมา ขึ้นอยู่กับสถานะของ DW ณ ตอนนั้น

    หาก DW นั้นมีมูลค่าซื้อขายที่แท้จริงในวันซื้อขายสุดท้าย (In-the-money) และนักลงทุนไม่ได้ขาย DW ออกไปก่อนเวลาปิดตลาดของวันซื้อขายสุดท้าย ผู้ออก DW จะใช้สิทธิ์ให้โดยอัตโนมัติ และผู้ลงทุนจะได้เงินสดส่วนต่างกลับมาเป็นผลตอบแทน ซึ่งเกณฑ์ในการได้เงินสดส่วนต่างขึ้นอยู่กับลักษณะการถืออยู่ดังนี้

หากถือ Put DW จะได้รับเงินสดส่วนต่างก็ต่อเมื่อราคาปิดของสินทรัพย์อ้างอิงในวันซื้อขายสุดท้ายมีค่าน้อยกว่า Strike Price (ราคาใช้สิทธิ์)

หากถือ Call DW อยู่ในมือ จะได้เงินสดส่วนต่างเมื่อราคาปิดของสินทรัพย์อ้างอิงมีค่ามากกว่า Strike Price (ราคาใช้สิทธิ)

ในทางกลับกัน หาก DW ตัวที่ถืออยู่ไม่มีมูลค่าที่แท้จริงในวันซื้อขายสุดท้าย (Out-of-the-money) ผู้ลงทุนก็จะไม่ได้รับเงินสดส่วนต่างเหล่านั้น ทั้งนี้หากนักลงทุนต้องการขาย DW ที่ไม่มีมูลค่าแท้จริงก่อนวันซื้อขายสุดท้าย (Out-of-the-money) หรือมีมูลค่าที่แท้จริงเป็นเป็น 0 บาท ทาง DW41 จะรับซื้อคืนในราคา 0.01 บาท เพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุน

    ดังนั้น เรื่องของ “เวลา” จึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่นักลงทุนใน DW ควรตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อให้รู้ว่าจะถือครองได้นานที่สุดเท่าไหร่จึงจะไม่พลาดผลตอบแทน และขณะถือครอง ควรถือไว้นานแค่ไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด

ถือสั้นหรือถือยาว: ทางเลือกไหนเหมาะกับเทคนิคการลงทุนของเรา?

    ถึงแม้ว่า DW แต่ละตัวจะมีการกำหนดวันครบกำหนดอายุที่แน่นอน แต่นักลงทุนเองก็สามารถเลือกได้เช่นกันว่าจะถือ DW ไว้นานเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับเงื่อนไขของ DW ตัวนั้น ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะไม่ถือไว้นาน เนื่องจาก Time Decay หรือค่าเสื่อมเวลาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาของ DW ยิ่งถือไว้นานก็จะยิ่งมีต้นทุนค่าเสื่อมเวลาเพิ่มมากขึ้น สำหรับการถือครอง DW เราอาจสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ เช่น

    การถือครอง DW ระยะสั้น 1-3 วัน กลุ่มนี้สามารถถือ DW ที่มีค่า Time Decay ค่อนข้างสูงได้ เนื่องจากต้นทุน Time Decay มีสัดส่วนที่น้อยกว่าการถือ DW ระยะปานกลาง และเหมาะกับ DW ที่มีค่า Gearing สูง รวมทั้งมีค่า Sensitivity ใกล้กับ 1 ที่สุด เพราะเมื่อราคาหุ้นอ้างอิงขยับ ราคาของ DW จะได้เปลี่ยนแปลงตามอย่างรวดเร็วไปพร้อมกับหุ้นแม่

    การถือครอง DW ระยะปานกลาง 4-10 วัน จะสามารถถือครองในระยะเวลามากขึ้น ควรเลือก DW ตัวที่มีค่า Time Decay ต่ำ และ Sensitivity ใกล้ 1 เพราะต้นทุนในการถือจะลดลง และราคาก็จะขยับรวดเร็วไปพร้อมกับหุ้นแม่

    แม้ระยะเวลาในการถือ DW จะส่งผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีเทคนิคตายตัวที่สามารถสรุปได้ว่าเราควรถือ DW ไว้นานเท่าไหร่ เพราะแม้จะมีปัจจัยด้าน Time Decay ที่จะทำให้ต้นทุนในการถือครองเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมาหักล้างต้นทุนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น การตัดสินใจถือไว้หรือขายออกที่ระยะเวลานานเท่าไหร่จึงขึ้นอยู่กับสไตล์ในการลงทุนของแต่ละคน สำหรับใครที่มั่นใจว่ามีวินัยในการลงทุนมาก และหากราคาขยับหรือไม่ขยับ สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดในการขาย DW ตัวนั้นออกไป ก็สามารถลองเทรดในระยะสั้นได้ แต่หากใครยังไม่เด็ดขาดมากพอในการขายออกเมื่อจำเป็นก็ควรเลือกระยะเวลาการถือครองที่นานขึ้น และเลือก DW ที่มีค่าเสื่อมเวลาต่ำ จะได้ไม่ขาดทุนจากค่า Time Decay ที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันที่ถือครอง

การถือ DW จนหมดอายุ: ข้อเสีย ผลตอบแทน และภาษี

    นอกจากการถือระยะสั้น-ถือระยะยาวแล้ว ยังมีกรณีที่ผู้ลงทุนลืมขายคืน DW ก่อนเวลาปิดตลาดของวันซื้อขายสุดท้าย ซึ่งการถือครอง DW จนหมดอายุก็มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ในเรื่องของการได้รับผลตอบแทน

    การซื้อขาย DW ไม่ว่าจะซื้อขายที่ราคาใด เวลาไหน หากไม่กำไรก็จะขาดทุนมากสุดเท่าราคาทุนที่วางไป เนื่องจาก DW มีความเสี่ยงสูง ตามที่เราได้ย้ำกันไปหลายครั้ง ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้เลยว่า ในวันซื้อขายสุดท้าย DW ที่เราถืออยู่จะมีสถานะ In-the-money หรือเปล่า รวมไปถึงนักลงทุนจะเผชิญกับค่าต้นทุนการถือครองหรือ Time Decay ที่สูงช่วงใกล้ครบกำหนดอายุ

    สำหรับผู้ที่ถือ DW จนครบกำหนดอายุและ DW มีสถานะ In-the-money จะได้รับเงินคืนหรือเงินสดส่วนต่างเข้าบัญชีภายใน 8 วันทำการ นับจากวันซื้อขายสุดท้าย ซึ่งเงินจำนวนนั้นอาจถือเป็นรายได้ และอาจจะต้องนำไปคำนวณรวมกับรายได้ประจำปีเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนด1  ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้นักลงทุนถือ DW จนครบกำหนดอายุ

            การซื้อขาย Derivative Warrants นั้นมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากมาย เรื่องของเวลาและระยะเวลาก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สามารถชี้วัดได้ว่าจะได้ผลตอบแทนมากน้อยตามที่วางแผนเอาไว้หรือเปล่า ซึ่งแม้จะมีคำแนะนำเกี่ยวกับการถือครอง DW มากมายเพียงใด สิ่งสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นตัวของผู้ลงทุนเองที่ต้องตัดสินใจให้เหมาะกับสไตล์การเทรดของตัวเองมากที่สุด

และสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านการลงทุน สามารถค้นหา DW รายตัว รวมถึงตรวจสอบข้อมูลตลาด และคำนวณเงินสดส่วนต่างเพื่อการวางแผนการลงทุนที่ง่ายขึ้นผ่านเว็บไซต์ของ JP Morgan ได้เลย

 

การนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์นี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลเป็นการทั่วไปเท่านั้น บริษัทมิได้ให้คำแนะนำทางกฎหมายหรือภาษี และไม่สามารถรับรองความถูกต้องเป็นปัจจุบันของเนื้อหาที่ปรากฎ นักลงทุนควรปรึกษาที่ปรึกษาในการตีความทางกฎหมายหรือภาษีใดๆ ที่เกี่ยวข้อง