รวมเทคนิคการเลือกดัชนีและหุ้นแม่สำหรับเทรด DW l J.P. Morgan

2021-04-22

เผยเทคนิคเลือกดัชนีหุ้นและหุ้นแม่ในการเทรด DW  

ประเด็นสำคัญ

#1. ทำความรู้จัก DW กันก่อน

#2. หุ้นแม่มีผลต่อการลงทุน DW อย่างไร?

#3. ดัชนีที่สามารถลงทุน DW ได้ มีกี่ประเภท?

#4. แล้วเราจะเลือกดัชนีหุ้นและหุ้นแม่ให้เหมาะกับเราได้อย่างไร?

 

การเริ่มต้นที่ถูกต้องถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จ เช่นเดียวกับการเทรด DW หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในชื่อของ Derivative Warrant หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ที่ต้องเริ่มต้นการเทรดให้ถูกต้อง ซึ่งก่อนจะเริ่มการเทรดควรทำความเข้าใจในทิศทางสนามลงทุนของทั้งไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงการเลือกดัชนีและหุ้นแม่ประเภทต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเรา แต่คำถามคือ? แล้วเราควรเลือกดัชนีและหุ้นแม่แบบไหนให้เหมาะกับเรามากที่สุด? J.P. Morgan ขอชวนทุกคนมาเริ่มต้นก้าวแรกในสนามการลงทุน DW ด้วยการทำความเข้าใจหุ้นแม่และดัชนีต่าง ๆ ที่เป็นจุดตั้งต้นของการลงทุนกันก่อน

  ทำความรู้จัก DW กันก่อน

    จริงอยู่ว่า ดัชนีหุ้นและหุ้นแม่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจหากผู้เทรดต้องการเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างที่ตัวเองได้หวังเอาไว้ แต่รู้หรือไม่ว่า นักลงทุนจะไม่สามารถเริ่มต้นการเทรดได้เลยหากยังไม่เข้าใจว่า DW คืออะไรและเป็นการลงทุนประเภทใดกันแน่

    หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินว่า DW หรือ Derivative Warrant นั้นเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ซื้อขายบนกระดานหุ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำนิยามเช่นนี้เป็นความจริงเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะตัว DW นั้นเป็น “สิทธิ” ในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งอาจจะเป็นดัชนีหุ้นหรือหุ้นแม่ โดยราคาของสิทธิดังกล่าวจะเคลื่อนไหวอ้างอิงกับราคาของสินทรัพย์อ้างอิง ที่เป็นได้ทั้งดัชนีหุ้น หรือ หุ้นรายตัว (“หุ้นแม่”)

    นอกจากนั้น DW ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความสะดวกและยืดหยุ่นสูง เพราะนอกจากจะใช้ซื้อขายได้สะดวกเหมือนหุ้นแต่ใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าแล้ว นักลงทุนยังสามารถวางแผนการลงทุน DW ในระยะสั้นไปจนถึงระยะกลางด้วยตารางราคา อีกทั้งยังสามารถซื้อขายเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ทั้งตลาดขาขึ้น (Call DW) และตลาดขาลง (Put DW) ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจำนวนมากจึงนิยมใช้ DW เพื่อลงทุนตามการเคลื่อนไหวของราคา  เพื่อบริหารความเสี่ยง และเพื่อเปิดโอกาสการลงทุนอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศ

หุ้นแม่มีผลต่อการลงทุน DW อย่างไร?

เคยสงสัยไหมว่าเวลาการเคลื่อนไหวของหุ้นแม่สำคัญอย่างไรต่อการลงทุนใน DW อย่างไร

    ซึ่งคำตอบง่าย ๆ ของคำถามนี้ก็คือ หุ้นแม่ คือชื่อเรียกของหุ้นอ้างอิงของ DW โดยราคาของ DW จะเคลื่อนไหวสอดคล้องไปกับราคาของหุ้นแม่  ดังนั้นในการลงทุนใน DW บนหุ้นนั้น ขั้นตอนแรกของการลงทุนก็คือต้องรู้จักพฤติกรรมของหุ้นแม่ดังกล่าวเสียก่อน ว่าการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแม่สะท้อนปัจจัยอะไรบ้าง ณ ขณะนั้น ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจจะสะท้อนมุมมองพื้นฐานของกิจการหรือข่าวโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแม่สะท้อนปริมาณความต้องการซื้อ (demand) และความต้องการขาย (supply) ของนักลงทุนในปัจจุบันเท่านั้น

แล้วดัชนีมีผลต่อการลงทุน DW อย่างไร?

    ถ้าหากว่า นักลงทุนต้องการที่จะมองดูภาพรวมของกลุ่มหุ้น เช่น การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 50 หุ้น หากวัดด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย (SET50 Index) หรือการเคลื่อนไหวของหุ้นที่เน้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดสหรัฐอเมริกา 100 หุ้น (NDX index) นักลงทุนเลือกลงทุนในภาพรวมของกลุ่มหุ้นได้จากการลงทุนใน “ดัชนีหุ้น” ที่ประกาศโดยผู้จัดทำดัชนี ซึ่งดัชนีหุ้นแต่ละชนิดจะสะท้อนการเคลื่อนไหวของกลุ่มหุ้นที่แตกต่างกัน

    การใช้ดัชนีหุ้นใดดัชนีหุ้นหนึ่งเป็นตัวสะท้อนภาพรวมของตลาดอาจจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น หุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี วิธีการคำนวณดัชนีดังกล่าว สภาพคล่องของหุ้นสมาชิกของดัชนี รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของผู้จัดทำดัชนีประกอบด้วยเช่นกัน แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ดัชนีต่าง ๆ ที่เห็นได้ทั่วไปก็ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือบอกภาพรวมของเศรษฐกิจได้อย่างตรงตัว ตัวอย่างเช่น ดัชนี Dow Jones ที่อยู่คู่ Wall Street มายาวนานก็ยังไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของราคาหุ้นทั้งหมดของตลาดหุ้นสหรัฐได้ เพราะวิธีการคำนวณดัชนี Dow Jones นั้นมาจากหุ้นสมาชิกจากเพียง 30 บริษัทที่นำมาถ่วงน้ำหนักด้วยราคาหุ้น (Price-Weighted) ในขณะที่ดัชนี S&P500 อาจจะเป็นดัชนีที่เหมาะสมกว่าในการสะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐเนื่องจากประกอบไปด้วยหุ้นสมาชิกกว่า 500 บริษัทที่นำมาถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization-Weighted) ซึ่งครอบคลุมมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐกว่า 80%

    ถึงแม้ว่าราคาของ DW จะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยแรกที่นักลงทุนมักพิจารณา คือ ราคาของดัชนีอ้างอิงในกรณีของ DW อ้างอิงดัชนีหุ้น หรือราคาของหุ้นแม่ในกรณีของ DW อ้างอิงหุ้น โดยปัจจัยดังกล่าวสามารถใช้คาดการณ์ว่า หากดัชนีอ้างอิงหรือราคาหุ้นแม่ปรับตัวสูงขึ้น นั่นก็จะส่งผลให้ราคาของ DW ประเภท Call ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ DW ก็ยังเพิ่มโอกาสการลงทุนในจังหวะตลาดขาลงเช่นเดียวกัน โดยหากดัชนีอ้างอิงหรือราคาหุ้นแม่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง นักลงทุนก็สามารถวางแผนเพื่อทำการซื้อขาย DW ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นในช่วงตลาดขาลง หรือ ซื้อ DW ประเภท Put ได้เช่นเดียวกัน

 Investment Tips:

        ราคาของ DW อาจจะถูกกำหนดโดยปัจจัยอื่นนอกเหนือจากราคาของดัชนีอ้างอิงและราคาของ  หุ้นแม่ เช่น ต้นทุนการเสื่อมมูลค่าของ DW หรือ Time Decay เนื่องจาก DW มีอายุจำกัด รวมไป  ถึงสภาพคล่องและความผันผวนของราคาของดัชนีอ้างอิงและราคาของหุ้นแม่ นอกจากนั้นราคา  DW ยังขึ้นกับ Demand และ Supply ในช่วงเวลาที่มีนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนตัวนั้นมากเป็น  พิเศษจน DW ถูกถือครองโดยนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ราคาของ DW จะถูกกำหนดโดยนักลงทุน  แทน Market Maker ทำให้ราคา DW สูงกว่าราคาทางทฤษฎีหรือจะเรียกว่าเกิด “ราคาลอย”

ควรเลือกลงทุน DW อ้างอิงดัชนีหุ้น หรือ DW อ้างอิงหุ้น

    จากที่เล่ามาทั้งหมด หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า เราควรเลือกลงทุนแบบไหนดีระหว่าง DW อ้างอิงดัชนีหุ้นไทย DW อ้างอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศ และ DW อ้างอิงหุ้น โดยทาง J.P. Morgan ขอแยกความแตกต่างของ DW ทั้ง 2 ประเภทเป็นตารางดังนี้

ความ
แตกต่าง            
  DW อ้างอิงดัชนี  DW อ้างอิงหุ้น
 การเคลื่อนไหวของราคา   DW ที่ราคาเคลื่อนไหวตามดัชนีหุ้น โดยส่วนใหญ่ผู้ออกจะปรับราคา DW ตามราคาสัญญา Futures ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นแต่ละชนิด   DW ที่ราคาเคลื่อนไหวตามหุ้นรายตัว
 ประเภทของหลักทรัพย์อ้างอิง   ประกอบไปด้วยดัชนีหุ้นไทย เช่น SET50 (S50) และดัชนีหุ้นต่างประเทศ เช่น S&P500 (SPX), Nasdaq-100 (NDX)   ประกอบด้วยหุ้นที่เป็นสมาชิกของดัชนี SET50 และหุ้นลำดับที่ 51-100 ในดัชนี SET100 ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง
 ความ ผันผวน   โดยเฉลี่ยดัชนีหุ้นจะมีความผันผวนที่น้อยกว่าหุ้นรายตัวเนื่องจากดัชนีนั้นประกอบด้วยหุ้นหลายตัว ดังนั้นจึงมีการกระจายความเสี่ยง หุ้นรายตัวมีความผันผวนค่อนข้างสูงและแตกต่างกันหุ้นแต่ละบริษัท เนื่องจากมีปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละกิจการ
 มูลค่าที่ลดลงตามเวลา (Time Decay)   นื่องจากดัชนีที่ DW อ้างอิงมีมูลค่าดัชนีที่สูง ถึงแม้จะได้รับการชดเชยด้วยความผันผวนของดัชนีที่ต่ำ แต่สุดท้าย มูลค่าที่ลดลงตามเวลาของ DW ก็จะค่อนข้างสูงหากเทียบกับ DW อ้างอิงบนหุ้น   เนื่องจากความผันผวนที่สูงแต่มูลค่าของหุ้นอ้างอิงไม่สูงมากหากเทียบกับดัชนี ดังนั้นค่า มูลค่าที่ลดลงตามเวลาของ DW บนหุ้นจะต่ำกว่า DW บนดัชนี โดยบางรุ่นอาจถือได้นานถึง 5-10 วันโดยไม่มีมูลค่าที่ลดลงตามเวลาอย่างมีนัยสำคัญ

    ถึงจะมีความแตกต่างดังตาราง แต่การจะลงทุนใน DW อ้างอิงดัชนี หรือ DW อ้างอิงหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายการลงทุนของแต่ละคน โดยคุณสามารถเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการลงทุนได้โดยการวางแผนวิเคราะห์และคาดการณ์การเคลื่อนไหวราคาจากการพิจารณาตารางราคาที่จัดทำโดยผู้ออก DW

ดัชนีที่สามารถลงทุน DW ได้ มีกี่ประเภท?

     จริงอยู่ว่าดัชนีตลาดหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศนั้นมีด้วยกันมากมายหลายดัชนี แต่ดัชนีที่นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกลงทุน DW นั้นจะมีด้วยกัน 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1. ดัชนีตลาดหุ้นไทย

    หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินชื่อของดัชนี SET ประเภทต่าง ๆ มาไม่มากก็น้อย เช่น ดัชนี SET50  และ ดัชนี ​SET100 แต่ดัชนี SET ที่นิยมนำมาอ้างอิงในการออก DW คือ “ดัชนี SET50” โดยดัชนี SET50  นั้นเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) สูงที่สุด 50 หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และมีสภาพคล่องที่สูง โดยทางตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาทบทวนสมาชิกดัชนี SET50 ปีละสองครั้งคือรอบทบทวนเดือน มิถุนายน และรอบทบทวนเดือนธันวาคม

ดัชนี SET50 ครอบคลุมอะไรบ้าง

    ดัชนี SET นั้นครอบคลุมธุรกิจชั้นนำหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อของดัชนี SET50 ได้ที่ https://www.set.or.th/th/market/constituents.html

ข้อควรระวังในการเทรด DW ใน SET50

    นักลงทุนที่ต้องการวางแผนการลงทุนใน SET50 DW ด้วยตารางราคาที่แสดงโดยผู้ออก DW โดยส่วนใหญ่ ในการเทียบตารางราคานักลงทุนต้องเทียบตารางราคาจากราคา SET50 index Futures ไม่ใช่ SET50 Index

    การเคลื่อนไหวของดัชนี SET50 ของประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยด้านการเมืองเป็นหลัก หากเศรษฐกิจไม่ดี ความมั่นคงทางการเมืองลดลง นักลงทุนทั้งไทยและชาวต่างชาติก็มีความเชื่อมั่นลดลง เม็ดเงินจากต่างชาติและในประเทศที่จะเข้ามาลงทุนก็จะลดลง ผู้ลงทุนต้องการลดความเสี่ยงและเริ่มหนีออกจากตลาดหุ้น หรือหันไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเช่น ทองคำ พันธบัตรหรือเงินสด  ดัชนี SET ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงได้ง่าย

   เวลาซื้อขาย SET50 DW: 10.00 – 12.30 น. และ 14.30 – 16.30 น.

2. ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ S&P500

    Standard & Poor หรือดัชนี S&P500 นั้นเป็นชื่อดัชนีที่นักลงทุนหลายคนคุ้นหู เพราะ นอกจากจะเป็นดัชนีตลาดหุ้นสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาถึง 500 แห่งแล้ว ดัชนีนี้ยังมีการผสมผสานอุตสาหกรรมหลากลายรูปแบบเข้าด้วยกันจนสามารถสะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันบริษัทที่เป็นสมาชิกดัชนี S&P500 นี้เป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น NYSE (ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก) รวมถึงตลาดหุ้น NASDAQ และ ตลาด CBOE

ดัชนี S&P500 ครอบคลุมอะไรบ้าง

    ดัชนี S&P500 หรือดัชนี SPX เป็นดัชนีที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดหุ้นสหรัฐสูงถึง 80% โดยบริษัทชั้นนำมากมายนั้นได้เข้าร่วมกับดัชนีนี้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น Apple, Microsoft, Amazon, Alphabet และ Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett รวมไปถึง J.P. Morgan Chase & Co. เองก็เช่นกัน สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัททั้งหมดได้ที่นี่ https://www.spglobal.com/spdji/en/indices/equity/sp-500/#data

ข้อควรระวังในการเทรด DW ใน S&P500

    เนื่องจากดัชนี S&P500 เปิดทำการในเวลากลางคืนตามเวลาประเทศไทย ดังนั้น S&P500 DW ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทย จะอ้างอิงราคาจาก S&P500 Futures ที่ซื้อขายเกือบ 23 ชั่วโมง ครอบคลุมเวลาที่ตลาดไทยเปิดทำการช่วง 10.00 – 16.30 น. (ไม่มีพักเที่ยง) S&P500 Futures เป็นเครื่องมือการลงทุนที่เคลื่อนไหวสะท้อนมุมมองต่อดัชนี S&P500 ในอนาคต โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวสะท้อนปัจจัยข่าวในตลาดเอเชียและยุโรปที่อาจจะกระทบดัชนี S&P500 ในอนาคต

    ดัชนี S&P500 มีการเคลื่อนไหวของราคาค่อนข้างสูงในช่วงกลางคืนที่ตลาดสหรัฐเปิด ซึ่งเป็นช่วงปิดตลาดของฝั่งประเทศไทยและ S&P500 DW ไม่สามารถซื้อขายได้เช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายในกรณีถือ DW ข้ามคืน แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสการลงทุนเนื่องจาก S&P500 DW เป็นเครื่องมือการลงทุนเดียวที่นักลงทุนสามารถใช้บัญชีหุ้นที่มีอยู่ลงทุนได้อย่าง Real Time ในช่วงเวลาซื้อขายของตลาดหุ้นไทย

3. ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ NASDAQ-100 (NDX)

    ดัชนี NASDAQ-100 หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ NASDAQ-100 (NDX) นั้นมาจากการคำนวณหุ้น 102 ตัวจากบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทเงินทุนหรือสถาบันการเงินจำนวน 100 บริษัทโดยปัจจุบันหุ้นที่เป็นสมาชิกดัชนี NDX นั้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น Nasdaq ของสหรัฐอเมริกาทั้งหมด โดยดัชนี NDX นั้นจะถูกคำนวณจากการถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (Market Capitalization) เช่นเดียวกับดัชนี S&P500 หรือ SPX แต่ดัชนี NDX นั้นจะเป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยหุ้นที่เน้นไปทางกลุ่มเทคโนโลยีหรือเป็นกลุ่ม Growth Stock เป็นหลัก

ดัชนี NASDAQ-100 (NDX) ครอบคลุมอะไรบ้าง

    ดัชนี NDX เป็นดัชนีที่เน้นไปที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Apple, Microsoft, Amazon, Tesla, Facebook และ Alphabet (GOOG, GOOGL) เป็นหุ้นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากต่อดัชนี NDX ซึ่งนอกจากที่ระบุมายังมีบริษัทระดับโลกอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถดูรายชื่อทั้งหมดได้ที่ https://www.nasdaq.com/market-activity/quotes/nasdaq-ndx-index

ข้อควรระวังในการเทรด DW ใน NASDAQ

    เช่นเดียวกับดัชนี S&P500 DW  NASDAQ-100 DW จะอ้างอิงการเคลื่อนไหวราคาของ NASDAQ-100 Futures ที่เปิดทำการเกือบ 23 ชั่วโมง NASDAQ-100 Futures เป็นเครื่องมือการลงทุนที่เคลื่อนไหวสะท้อนมุมมองต่อดัชนี NASDAQ-100 ในอนาคต โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวสะท้อนปัจจัยข่าวในตลาดเอเชียและยุโรปที่อาจจะกระทบดัชนี NASDAQ-100 ในอนาคต นอกจากนี้ดัชนี NASDAQ-100 มีความผันผวนที่สูงเนื่องจากประกอบไปด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสัดส่วนที่สูง ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงจะไม่มีมากเท่าดัชนี S&P500 ที่มีทั้งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มธนาคาร รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจที่สำคัญอื่น ๆ

เวลาซื้อขาย NASDAQ-100 DW: 10.00 – 16.30 น. ไม่มีพักเที่ยง

แล้วเราจะเลือกดัชนีหุ้นและหุ้นแม่ให้เหมาะกับเราได้อย่างไร?

1. พิจารณาความเสี่ยงที่รับไหว

    ทุกดัชนีและหุ้นอ้างอิงทุกตัวนั้นมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นก่อนที่จะเลือกเทรด DW นั้น นอกจากจะต้องหาความรู้และบทวิเคราะห์เรื่องตัว DW ที่สนใจแล้ว การทำความเข้าใจถึงข้อควรระวัง รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละดัชนีก็จะสามารถช่วยให้ผู้เทรดเลือกดัชนีและหุ้นแม่ได้เหมาะสมกับตนเองได้

2. ตรวจสอบความพร้อมในการลงทุน    

    นอกจากความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาแล้ว จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แต่ละดัชนีนั้นมีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ ทั้งเวลาในการซื้อขาย สภาพคล่อง และข้อจำกัดอื่น ๆ ที่มีผลต่อราคาการซื้อขาย ดังนั้นผู้เทรดทุกคนควรกลับมาพิจารณาความพร้อมของตัวเองก่อน ว่าเรามีเวลาให้กับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน และ เรามีความพร้อมทางการเงินกับการลงทุนหรือไม่

   การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินการในอดีตไม่สามารถยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคตได้ นอกจากจะเตรียมใจรับความเสี่ยงและหาข้อมูลของ DW แล้ว การตรวจสอบตารางราคาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตรวจสอบตาราง DW41 และวิเคราะห์แนวทางการลงทุนของตัวเอง ที่นี