เทียบชัด! รวมความแตกต่างระหว่าง DW ในดัชนี DJI NDX และ SPX

2021-09-20

ครบจบที่เดียว! DW ในดัชนี DJI NDX และ SPX แตกต่างกันอย่างไร

ประเด็นสำคัญ 

#1. ดัชนี Dow Jones คืออะไร

#2. ดัชนี NASDAQ-100 คืออะไร

#3. ดัชนี S&P 500 คืออะไร

#4. หากต้องเลือกลงทุน DW อ้างอิงดัชนีหุ้นสหรัฐฯ นักลงทุนควรควรพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง

 

     นอกเหนือจากการพิจารณาความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเราแล้ว การทำความเข้าใจดัชนีหุ้นของ DW ต่าง ๆ ก็จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกดัชนีและวางแผนลงทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากดัชนีหุ้นไทยอย่าง SET50 แล้ว วันนี้ J.P. Morgan จะขอพานักลงทุนทั้งมือใหม่และเก่ามาเจาะลึก 3 ดัชนีหุ้นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ทาง J.P. Morgan เป็นผู้ออกเจ้าเดียวที่มี DW ให้เลือกลงทุนอย่าง Dow Jones, NASDAQ-100 และ S&P 500 ครบทั้ง 3 ดัชนี แล้วแต่ละดัชนีจะมีรายละเอียดและข้อควรระวังในการลงทุนอย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกันที่นี่

 

1. ดัชนี Dow Jones คืออะไร

     เมื่อพูดถึงการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ แน่นอนว่า Dow Jones ต้องเป็นอีกหนึ่งชื่อดัชนีหุ้นที่ใคร ๆ ต่างก็คุ้นหูเป็นอย่างดี โดย Dow Jones หรือ Dow Jones Industrial Average (DJIA) จัดเป็นดัชนีทางการเงินที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ประกอบไปด้วยหุ้นทั้งหมด 30 ตัวจากบริษัทในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 30 แห่งของสหรัฐฯ ที่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก NYSE และ NASDAQ และนักลงทุนสามารถติดตามดัชนี Dow Jones  ได้ตามเวลาทำการของตลาดสหรัฐฯ คือตั้งแต่วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 20.30 - 03.00 น.* ตามเวลาประเทศไทย (เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เปิดทำการในขณะที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการ)  หรือติดตามราคา Dow Jones Futures ที่ซื้อขายเกือบ 23 ชม.และ DW บน DJI DW41 ที่อ้างอิง DJI Futures เริ่มซื้อขายเวลา 10.00 – 16.30 น. ตามเวลาไทย (ไม่มีพักเที่ยง)

 

ดัชนี Dow Jones ครอบคลุมอุตสาหกรรมไหนบ้าง

     ถึงแม้จะมีเพียงแค่ 30 บริษัท แต่การจะได้รับคัดเลือกนั้น บริษัทจากแต่ละอุตสาหกรรมจะต้องมีความโดดเด่นและสามารถใช้เป็นตัวแทนของตลาดได้ หรือเรียกได้ว่าเป็น “หุ้นกลุ่มบลูชิพ”, “หุ้นกลุ่ม value” ที่มีผลตอบแทนที่มั่นคงและต่อเนื่อง และผ่านการคำนวณมูลค่าผ่านการถ่วงน้ำหนักตามราคาหุ้น (Price) โดยส่วนใหญ่แล้ว บริษัทอุตสาหกรรมที่อยู่ในดัชนี Dow Jones นั้นจะเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานดีมากและเชื่อมโยงกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ หากดัชนี Dow Jones มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นก็มีทิศทางที่ดีด้วย แต่หากดัชนี Dow Jones มีผลประกอบการที่ต่ำนั่นย่อมหมายถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั่นเอง

 

เงื่อนไขของการเข้าร่วมดัชนี Dow Jones

     ผู้จัดทำดัชนี Dow Jones จะทำการคัดเลือกบริษัทที่สามารถเป็น “ภาพแทน” ของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้โดยพิจารณาถึงผลประกอบการ โดย J.P. Morgan เองก็เป็นหนึ่งในบริษัทจากอุตสาหกรรมการเงินที่ได้รับเลือกให้อยู่ในดัชนี Dow Jones ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 เช่นกัน แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ดัชนี Dow Jones ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนบริษัทที่จะเข้ามาอยู่ในดัชนีเช่นกัน ซึ่งหากบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกมีผลประกอบการที่แย่ลง ทั้งในบริษัทเองและจากการลงทุน ผู้จัดที่ควบคุมดัชนีก็จะทำการพิจารณาและนำบริษัทเหล่านั้นออกจากดัชนี

 

ดัชนี Dow Jones น่าลงทุนด้วยหรือไม่

     การลงทุนในดัชนี Dow Jones นั้นต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจและหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีในสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งนับจากสถิติแล้ว Dow Jones เป็นอีกหนึ่งดัชนีที่มีผลประกอบการสูงต่อเนื่องโดยเฉพาะในปี 2564 ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้น กองทุน สัญญาซื้อขายส่วนต่าง (Futures) หรือ DW ใน Dow Jones นักลงทุนต้องหมั่นติดตามข่าวสารเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ เพื่อปรับทิศทางและวางแผนการลงทุนอยู่เสมอเพื่อจัดการและบริหารความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว

 

2. ดัชนี NASDAQ-100 คืออะไร

     NASDAQ-100 (NDX) จัดเป็นอีกหนึ่งดัชนียักษ์ใหญ่ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่จะทำการคัดสรร 100 บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่บริษัทเงินทุนหรือสถาบันการเงิน โดยจะเน้นไปที่บริษัทที่อยู่ในกลุ่มผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ได้ทำการจดทะเบียนบนตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนสามารถติดตามดัชนี NDX  ได้ตามเวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือตั้งแต่วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 20.30 - 03.00 น.* ตามเวลาประเทศไทย (เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เปิดทำการในขณะที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการ)  หรือติดตามราคา Nasdaq-100 Futures ที่ซื้อขายเกือบ 23 ชม. และ DW บน NDX DW41 ที่อ้างอิง Nasdaq-100 Futures เริ่มซื้อขายเวลา 10.00 – 16.30 น. ตามเวลาไทย (ไม่มีพักเที่ยง)

 

ดัชนี NASDAQ-100 ครอบคลุมอุตสาหกรรมไหนบ้าง

     ดัชนี NASDAQ-100 จะทำการคำนวณมูลค่าผ่านการถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (Market Capitalization) จากบริษัทชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีที่หลาย ๆ คนมักรู้จัก อาทิเช่น Apple, Tesla, Facebook, Microsoft รวมถึง Google เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การลงทุน DW ในดัชนี NASDAQ-100 จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกนั่นเอง

 

เงื่อนไขของการเข้าร่วมดัชนี NASDAQ-100

     การที่จะเข้าร่วมกับดัชนี NASDAQ-100 ได้ บริษัทจะต้องมีผลประกอบการที่ดีจากการมีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยตามเกณฑ์ที่กำหนด ไม่เสี่ยงหรืออยู่ในกระบวนการล้มละลาย และต้องจดทะเบียนบนตลาด NASDAQ  ซึ่งหากบริษัทใดไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเหล่านี้ ผู้จัดทำดัชนี NASDAQ-100 จะทำการนำบริษัทนั้นออกจากดัชนีทันที

 

ดัชนี NASDAQ-100 น่าลงทุนด้วยหรือไม่

     นอกจากจะจับตาดูทิศทางของเศรษฐกิจแล้ว หากนักลงทุนต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในดัชนี NASDAQ-100 อย่าง DW อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดที่สุด คือ ข่าวสารจากแวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ช่องทางอื่น ๆ ที่บริษัทร่วมลงทุน รวมถึงการที่เจ้าของบริษัทออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ หากนักลงทุนต้องการจะลงทุนในดัชนี NASDAQ-100 อย่าลืมที่จะติดตามข่าวสารทุกช่องทางของบริษัทที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในดัชนี NASDAQ-100 อย่างใกล้ชิดด้วย

 

3. ดัชนี S&P 500 คืออะไร

     ดัชนี S&P 500 หรือ Standard & Poor 500 นั้นจะเป็นดัชนีที่นำบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาจำนวน 500 แห่งที่ผ่านการจดทะเบียนใน NYSE รวมถึงตลาดหุ้น NASDAQ และ ตลาด CBOE เข้ามา โดยจะทำการถ่วงน้ำหนักโดยใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) และด้วยการผสมผสานของอุตสาหกรรม ดัชนี S&P 500 จึงถือเป็นอีกหนึ่งดัชนีที่สามารถสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการลงทุนในสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี นักลงทุนสามารถติดตามดัชนี S&P 500  ได้ตามเวลาทำการของตลาดสหรัฐฯ คือตั้งแต่วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 20.30 - 03.00 น.* ตามเวลาประเทศไทย (เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เปิดทำการในขณะที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการ)  หรือติดตามราคา S&P500 Futures ที่ซื้อขายเกือบ 23 ชม.และ DW บน SPX DW41 ที่อ้างอิง S&P500 Futures เริ่มซื้อขายเวลา 10.00 – 16.30 น. ตามเวลาไทย (ไม่มีพักเที่ยง)

 

ดัชนี S&P 500 ครอบคลุมอุตสาหกรรมใดบ้าง

     ดัชนี S&P 500 ครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรมจาก 500 บริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple และ Walt Disney Company บริการด้านสุขภาพอย่างบริษัทวัคซีน Pfizer สินค้าอุปโภคบริโภคชนิดฟุ่มเฟือยอย่างแบรนด์เนมต่าง ๆ อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน รวมไปถึงบริษัทด้านการเงิน ด้วยเช่นกัน

 

เงื่อนไขของการเข้าร่วมดัชนี S&P 500

     การจะเข้าร่วมดัชนี S&P 500 ได้ 500 บริษัทจากกลุ่มอุตสาหกรรมต้องเป็นบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ผ่านเกณฑ์ด้านมูลค่าตลาด, ผลประกอบการเป็นบวกใน 4 ไตรมาสติดต่อกัน และมี Free Float เพียงพอตามเกณฑ์

 

ดัชนี S&P 500 น่าลงทุนด้วยหรือไม่

     ดัชนี S&P 500 เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งหากมองในเรื่องของความหลากหลายแล้ว นั่นก็เท่ากับว่าการลงทุนในดัชนีนี้จะช่วยทำให้เห็นทิศทางตลาด และมองเห็นการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น แต่นั่นก็ต้องมาพร้อมกับการติดตามข่าวสารของทุกอุตสาหกรรมให้ต่อเนื่อง และปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมเช่นกัน

 

หากต้องเลือกลงทุน DW อ้างอิงดัชนีหุ้นสหรัฐฯ นักลงทุนควรควรพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง

     ไม่ว่าจะเป็นดัชนี Dow Jones, NASDAQ-100 หรือ S&P 500 นอกเหนือจากการพิจารณาความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหวแล้ว นักลงทุนยังต้องพิจารณาถึง 3 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

ความแตกต่างในแง่ของหุ้นสมาชิกแต่ละตัว (Value, Growth, US Broad-based)

     1. ดัชนีแต่ละดัชนีจะมีหุ้นที่แตกต่างกันออกไป โดย J.P. Morgan อยากให้ลองพิจารณาประเภทหุ้นที่อยู่ในดัชนีที่สนใจว่าเป็นหุ้นประเภทใด และเหมาะกับการสร้างผลตอบแทนแบบไหน โดยทั่วไปแล้ว หุ้นสมาชิกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

          + หุ้นสะสมคุณค่า (Value Stock) หรือหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีจากบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตสม่ำเสมอ เน้นการสร้างผลตอบแทนระยะยาว

          + หุ้นเติบโต (Growth Stock) เป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นทางด้านผลประกอบการสูงจึงทำให้มีราคาที่สูงกว่าหุ้นคุณค่า เน้นการสร้างผลตอบแทนระยะสั้น

          + การกระจายฐานกว้าง (Broad-based) เน้นการลงทุนที่ล้อไปกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในหลายอุตสาหกรรม

 

     2. ความแตกต่างในการแสดงผลของตารางราคา

     เนื่องจากดัชนีต่างประเทศมีขนาดของดัชนีไม่เท่ากัน ดังนั้นการแสดงผลของช่วงห่างราคาหลักทรัพย์อ้างอิงในตารางราคาจึงไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น

S&P500 DW มีช่วงห่างระหว่างราคาที่แสดงทุก ๆ 2.5 จุด

Nasdaq-100 DW มีช่วงห่างระหว่างราคาที่แสดงทุก ๆ 10 จุด

Dow Jones Industrial Average DW มีช่วงห่างระหว่างราคาที่แสดงทุก ๆ 20 จุด

 

     3. พิจารณาความผันผวนจากดัชนี และพิจารณา DW ที่สนใจผ่านค่า Sensitivity และ Gearing

     ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในดัชนีไหนก็ล้วนแล้วแต่มีความผันผวนและความเสี่ยงทั้งสิ้น ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาศึกษาข้อมูล DW ของแต่ละดัชนีอย่างครบถ้วนเพียงพอ ไปพร้อมกับพิจารณาความผันผวนของ DW ผ่านค่า Sensitivity และ Effective Gearing เพื่อวางแผนการลงทุนและพิจารณาความเสี่ยงในการลงทุน โดย

          + Sensitivity เป็นค่าความอ่อนไหวที่ราคา DW จะเปลี่ยนไปเมื่อราคาหุ้นหรือดัชนีที่ DW เปลี่ยนแปลงไป 1 ช่อง ซึ่งหากมีค่า Sensitivity เป็น 1  สามารถอ่านค่าได้ดังนี้

               + SPX DW41 เมื่อราคาดัชนีเปลี่ยนแปลง 2.5 จุด ราคาของ DW เองก็จะเปลี่ยนแปลง 1 ช่อง

               + NDX DW41 เมื่อราคาดัชนีเปลี่ยนแปลง 10 จุด ราคาของ DW เองก็จะเปลี่ยนแปลง 1 ช่อง

               + DJI DW41 เมื่อราคาดัชนีเปลี่ยนแปลง 20 จุด ราคาของ DW เองก็จะเปลี่ยนแปลง 1 ช่อง

          + Effective Gearing หรืออัตราทดที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของราคา DW เมื่อราคาหุ้นหรือดัชนีปรับตัวขึ้นหรือลง 1% เช่น หากมีค่า Effective Gearing เป็น 3 สามารถอ่านค่าได้ว่า เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง 1% ราคาของ DW ก็อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ 3% เป็นต้น

 

     จบลงไปแล้วกับความแตกต่างของทั้ง 3 ดัชนี และวิธีการเลือกดัชนีเบื้องต้นให้เหมาะสำหรับการลงทุน J.P. Morgan หวังว่าข้อมูลที่นำมาฝากในวันนี้จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกลงทุนในดัชนีได้เหมาะสมตามสไตล์การลงทุนของตัวเอง ซึ่งถ้าหากใครอยากเริ่มต้นลงทุนกับ 3 ดัชนียักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถลงทุนไปพร้อมกับ DW41 จาก J.P. Morgan ได้ในราคาเริ่มต้นที่หลักร้อยได้แล้ววันนี้ โดย J.P. Morgan เป็นผู้ออกเจ้าเดียวในเมืองไทยที่มี DW อ้างอิงดัชนีที่ใหญ่ที่สุด 3 ดัชนีของสหรัฐอเมริกา

 

* = เวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงนอก Daylight Saving Time เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ เวลา 21.30 – 04.00 น. ตามเวลาไทย ในขณะที่เวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วง Daylight Saving Time หรือ เดือนมีนาคม – พฤศจิกายน เวลา 20.30 – 03.00 น. ตามเวลาไทย โดยวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของ Daylight Saving Time อาจมีความแตกต่างไปในแต่ละปี